วัดต้นเกว๋น (อินทราวาส) หนึ่งในความงามอันเป็นสุดยอดสถาปัตยกรรมแห่งล้านนา วัดเก่าแก่อายุกว่า 150 ปี บรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ

 

วัดต้นเกว๋น (อินทราวาส)

หนึ่งในความงามอันเป็นสุดยอดสถาปัตยกรรมแห่งล้านนา


           ...มาแอ่วเมืองเหนือทั้งที ขอกล่าวคำว่าสวัสดีเจ้า คำทักทายแบบกำเมืองที่แสนไพเราะชื่นหัวใจ

ถ้าเอ่ยถึงเชียงใหม่นอกจากจะเป็นเมืองท่องเที่ยวในดวงใจของใครหลายๆ คนแล้ว บรรยากาศยามหน้าหนาว ทิวเขางาม ดอกไม้สวยแล้ว สิ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์หยัดยืนคู่เมืองล้านนานพบุรีศรีนครพิงค์มาเนิ่นนานคือวัดที่สวยงามเป็นศูนย์รวมศาสนาศิลปวัฒนธรรม และวันนี้เราจะพาไปแอ่ว วัดต้นเกว๋น กันเจ้า วัดที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยผ่านหูผ่านตากันบ่อยครั้ง เพราะเป็นสถานที่ถ่ายทำละครดังหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็น รอยไหม...เพลิงพระนาง...รากนครา จนมีการท่องเที่ยวตามรอยละครเกิดขึ้น และล่าสุดคือเรื่องกลิ่นกาสะลองที่จุดกระแสการแต่งกายแบบนุ่งซิ่นตามอี่นายกาสะลองและซ้องปีบกันเลยเจ้า

   

          วัดต้นเกว๋น หรือ วัดอินทราวาส วัดเก่าแก่บรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ อายุกว่า 150 ปี ปัจจุบันเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ตั้งอยู่ในตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ชื่อวัดต้นเกว๋น มาจากต้นบ่าเกว๋น หรือต้นตะขบป่าในภาษากลาง สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงมีต้นตะขบจำนวนมากในบริเวณที่ตั้งวัด ปัจจุบันมีให้เห็นเพียงหนึ่งต้นบริเวณด้านซ้ายของวิหาร ต่อมาได้มีชื่อวัดใหม่ว่า วัดอินทราวาส ตามชื่อครูบาอินทร์เจ้าอาวาสผู้ปรับปรุงและพัฒนาวัดนี้ (อินทร์+อาวาส)

 

          วัดเก่าแก่แห่งนี้มีความสำคัญในอดีต สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักแรมของขบวนพระบรมธาตุศรีจอมทองในประเพณีแห่พระเจ้าเข้าเวียง ซึ่งเป็นประเพณีของเจ้าหลวงเชียงใหม่ มีการสรงน้ำพระธาตุทุกปี เพื่อให้ชาวเมืองได้สรงน้ำสักการะพระบรมธาตุก่อนที่จะเชิญพระบรมธาตุไปประทับยังวัดสวนดอกและวัดพระธาตุดอยสุเทพ ประเพณีนี้ในปัจจุบันจะจัดขึ้นในโอกาสครบรอบสถาปนาเวียงเชียงใหม่ตามวาระเท่านั้น พิธีแห่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในพ.ศ. 2559 ในโอกาสครบรอบ 720 ปี 60 รอบนักษัตรสถาปนาเวียงเชียงใหม่ 

 

          วัดต้นเกว๋นเริ่มก่อสร้างในรัชสมัย พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6 ราวปี พ.ศ. 2399 - 2412 ตัววิหารสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2401 ในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ฝาผนังด้านหลังพระประธานเป็นซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะติดฝาผนัง ศาลาจัตุรมุขซึ่งพบเพียงหลังเดียวในภาคเหนือ อาคารเป็นศิลปกรรมล้านนาดั้งเดิม จัดว่าเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์และมีคุณค่า ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2526 สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมชูปถัมภ์ประกาศให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อปี พ.ศ. 2532 แม้จะได้รับการบูรณะซ่อมแซม แต่ยังคงไว้ซึ่งศิลปะแบบดั้งเดิม งดงามเหนือกาลเวลา

          วิหารวัดต้นเกว๋น เป็นวิหารทรงพื้นเมืองล้านนาที่มีความงดงามมาก โดยเฉพาะทรวดทรงของวิหารและลวดลายแกะสลักไม้ประดับตกแต่งวิหาร ลักษณะวิหารด้านหน้าหลังคาซ้อน 3 ชั้นและด้านหลังหลังคาซ้อน 2 ชั้น แบบล้านนา ราวบันไดที่ทอดสู่ตัววิหารเป็นปูนปั้นรูปพญานาค ด้านหน้าบริเวณหน้าบันประดับตกแต่งด้วยการแกะสลักลาย โครงสร้างภายในเปิดให้เห็นหลังคาซึ่งมุงด้วยกระเบื้องดินขอ        

 

        วิหารปัจจุบันได้สร้างขึ้นเมื่อ จ.ศ. 1220 (พ.ศ. 2401) ซึ่งมีผู้บันทึกปีการสร้างไว้ใต้เพดานด้านเหนือด้วยอักษรไทยยวน (ตั๋วเมือง) ช่างผู้สร้างวิหารนี้มีความชำนาญในการสลักลายดอก ลายรูปสัตว์ ที่หน้าจั่วและช่อฟ้าใบระกามีความงดงามมาก ฐานชุกชีพระประธานเป็นลายรูปปั้นเครื่องดอกกูดและรูปสัตว์ ฝาหนังด้านหลังพระประธานเป็นรูปคล้ายซุ้ม และซุ้มนั้นล้วนแต่เป็นพระพิมพ์โลหะติดฝาผนังนับได้ 625 องค์ พระพิมพ์มี 2 แบบ ตือแบบใบโพธิ์ปางมารวิชัย ขนาด 2×4ซม. และแบบนาคปรก ขนาด 3×5ซม. มณฑปแบบจตุรมุขศิลปกรรมล้านนาใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุชั่วคราว อาสน์สำหรับตั้งโกฏิพระบรมธาตุ เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำ รินรองสำหรับรองน้ำ สุคนธสินธุธาราคือ น้ำอบน้ำหอมที่ประชาชนสรงน้ำพระธาตุ เสลี่ยงสำหรับหามบั้งไฟจุดบูชา สมัยโบราณเรียกว่าขาขะเหยีย

    

          กลองโยน(กลองบูชา) หรือ ก๋องปู่จา ที่ยังมีอยู่ครบทุกลูก โดยกลองใบใหญ่ใช้สำหรับตีในวันพระเสียงจะดังได้ยินไปทั่วตำบลหนองควาย กำแพงเดิมก่อด้วยอิฐธรรมดาไม่ฉาบปูน ด้านบนมีปล่องคล้ายกำแพงเมืองในสมัยโบราณ วิหารวัดต้นเกว๋นนี้ยังเป็นต้นแบบหอคำหลวงที่งานพืชสวนโลกอีกด้วย

    

     วัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส)

     ที่ตั้ง บ้านต้นเกว๋น ซอย 3 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
     เปิดให้เยี่ยมทุกวัน เวลา 06.00 - 17.00 น.
     ขอบคุณข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้