ล่องดินแดนอีสานใต้ สัมผัสสองเมืองต้องห้าม...พลาด ‘บุรีรัมย์ Plus สุรินทร์’

 

 

มหัศจรรย์ความงามนับพันปีของ ปราสาทพนมรุ้ง

เชื่อเหลือเกินว่าจุดหมายปลายทางแรกที่นักท่องเที่ยวทุกคนตั้งใจไปเยือนคือ ‘ปราสาทพนมรุ้ง’ ปราสาทศิลาทรายสีชมพู เพราะนอกจากจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว ที่นี่ยังงดงามด้วยสถาปัตยกรรมขอมโบราณที่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 15-17 หรือประมาณหนึ่งพันกว่าปีมาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนปราสาทพนมรุ้ง คือปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้นและตกตรงกัน 15 ช่องบานประตู ซึ่งเกิดขึ้น ณ ปราสาทพนมรุ้งแห่งเดียวเท่านั้น  

ปราสาทพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระศิวะ ซึ่งประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาศ คนโบราณจึงเลือกสร้างเทวลัยแห่งนี้บนยอดเขาพนมรุ้ง สูง 200 เมตร ซึ่งเป็นบนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ‘พนมรุ้ง’ เป็นชื่อดั้งเดิมของปราสาทที่ถูกจารึกไว้ในหลักศิลาจารึก ในภาษาเขมรแปลว่า ‘ภูเขาใหญ่’

 

สิ่งปลูกสร้างในปราสาทพนมรุ้งไม่ได้สร้างเสร็จในคราวเดียว แต่ทยอยสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 15-17 โดยเริ่มสร้างศาสนสถานขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมโดยกษัตริย์ของอาณาจักรขอมโบราณ ตัวปราสาทประธานสร้างในสมัยพระเจ้านเรนทราทิตย์ ราวพุทธศตวรรษที่ 17 สิ่งก่อสร้างสุดท้ายคือบรรณาลัยและพลับพลา สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรขอม พระองค์ทรงนับถือพุทธศาสนา เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา โปรดให้สร้างอโรคยาศาลาหรือศาสนสถานพยาบาลและที่พักคนเดินทางในดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์

แม้เทวสถานแห่งนี้จะมีอายุกว่าพันปีแล้ว แต่ชื่อของพนมรุ้งเพิ่งถูกกล่าวถึงเมื่อร้อยกว่าปีนี้เอง จากบันทึกของนายเอเตียน เอมอนิเยร์ (Etienne Aymonier) ชาวฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2428 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาที่ปราสาทพนมรุ้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2449 ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนประสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานของชาติในปี พ.ศ. 2478 และทำการบูรณะปราสาทพนมรุ้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) คือรื้อของเดิมลงมาทำรหัสไว้และทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนของปราสาทกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม ทำให้ทุกคนได้ยลโฉมปราสาทพนมรุ้งพร้อมกันครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531    

   

 

ความมหัศจรรย์ของปราสาทพนมรุ้งคือ การออกแบบให้มีองค์ประกอบและแผนผังในแนวแกนที่เน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลางคือ ‘ปราสาทประธาน’ ภายในเทวสถานมีภาพจำหลักที่สะท้อนถึงความเชื่อและความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายมากมาย จนก่อให้เกิดเทวสถานที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบขอมโบราณ อาทิ ภาพพระศิวะนาฏราช ภาพศิวะมหาเทพ เทพองค์อื่นๆ เช่น พระพรหม พระนารายณ์ ภาพจำหลักที่คนไทยให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ‘นารายณ์บรรทมสินธุ์’ ซึ่งประทับอยู่ทับหลังของมณฑปด้านทิศตะวันออกปราสาทประธาน แม้ว่าจะเป็นองค์จำลองแต่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ไม่แพ้ทับหลังจริง ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลังจากได้รับคืนจากนครชิคาโกเมื่อปี พ.ศ. 2531 นอกจากนี้ยังมีภาพสลักหน้าบันที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับรามเกียรติ์ เช่น พระรามยกทัพ พระกฤษณะปราบนาคกาลิยะ ศึกกุมกรรณ เป็นต้น ภาพสลักที่หลายคนตามหาคือ ‘นางอัปสรา’ นางฟ้าหรือเทพธิดาผู้ดูแลศาสนสถาน ซึ่งเราจะพบเห็นได้ในปราสาทขอมแทบทุกแห่ง นางอัปสราจะมีรูปร่างหน้าตาท่าฟ้อนรำที่แตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง นางอัปสราที่ถูกยกย่องว่าสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทยอยู่ที่ปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเราจะพาไปชมกันวันถัดไปค่ะ

 

  

ปราสาทพนมรุ้งทำให้มนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเรารู้สึกทึ่งในภูมิปัญญาอันแยบยลของคนโบราณ ที่นอกจากจะสร้างสรรค์เทวสถานอันยิ่งใหญ่อลังการเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว การวางผังปราสาทยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ทางธรรมชาติ คือพระอาทิตย์ขึ้นและตกตรงกัน 15 ช่องบานประตู ซึ่งเชื่อกันว่าแสงแรกแห่งอรุณรุ่งที่ส่องผ่านศิวลึงค์ ตัวแทนแห่งพระศิวะ ตรง 15 ช่องประตูของปราสาทหินพนมรุ้ง ถือเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นดำเนินชีวิตในวันใหม่ ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นเพียงปีละ 4 ครั้งเท่านั้น จึงควรหาโอกาสไปชมสักครั้งในชีวิต