ผ้าซิ่นตีนแดง เสน่ห์ผ้าอีสานใต้ เอกลักษณ์ของบุรีรัมย์
ผ้าซิ่นตีนแดง เสน่ห์ผ้าอีสานใต้ เอกลักษณ์ของบุรีรัมย์
‘ผ้าซิ่นตีนแดง’ เป็นผ้าโบราณของชนชาติลาว ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว คือมีหัวซิ่นและท้ายซิ่นเป็นสีแดงสด ถูกทอขึ้นครั้งแรกโดยช่างฝีมือทอผ้าในคุ้มของพระยาเสนาสงคราม เจ้าเมืองคนแรกของอำเภอพุทธไธสง เมื่อประมาณ 200 ปี และชาวบ้านพุทธไธสงนำภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอด มาสร้างสรรค์ลวดลายมัดหมี่เฉพาะของอีสานใต้ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวพุทธไธสงและชาวนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์
เดิมผ้าซิ่นตีนแดงนิยมทอให้เด็กและหนุ่มสาวสวมใส่ เพราะมีสีสันสดใส ต่อมาได้พัฒนาลวดลายให้ผู้ใหญ่สามารถสวมใส่ไปงานบุญได้ มีความเชื่อกันว่าผ้าซิ่นตีนแดงเป็นผ้ามงคล จึงนิยมสวมใส่ในงานบุญประเพณีสำคัญๆ และงานแต่งงานฝ่ายหญิงจะใช้ผ้าซิ่นตีนแดงสำหรับไหว้ผู้ใหญ่ฝ่ายชาย
ผ้าซิ่นตีนแดงโบราณไม่ได้ทอต่อเนื่องเป็นผืนเดียว แต่จะทอด้วยฟืมเล็กแล้วนำมาต่อหัวและตีนซิ่น ปัจจุบันชาวบ้านจะมัดหมี่แล้วทอเป็นซิ่นหมี่ต่อเนื่องไปรวดเดียว ส่วนเชิงของซิ่นปกติจะเป็นพื้นสีแดงเรียบ ปัจจุบันมีการจกลวดลายเป็นแถบริ้วลายจกขนาดเล็ก ตีนซิ่นบางครั้งมีการใช้เทคนิคการขิดเก็บเส้นไหมสี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าการเก็บตีนดาวมาผสมผสาน เพื่อความสวยงามและแสดงฝีมือของช่างทอแต่ละคน
ปัจจุบันชาวบ้านพุทธไธสงและนาโพธิ์ยังคงสืบสานการทอผ้ามัดหมี่ตีนแดงเอาไว้แทบทุกครัวเรือน โดยมีการพัฒนาลวดลายและสีสันรวมถึงวัตถุดิบในการทอผ้าตามยุคสมัย วันนี้เราพาไปเยี่ยมชมวิถีชุมชนของกลุ่มคนทอผ้าบ้านหัวสะพาน ตำบลนายาง อำเภอพุทไธสง ซึ่งนอกจากจะทอผ้าซิ่นตีนแดงแบบดั้งเดิมแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งปลูกหม่อนที่ใหญ่ที่สุดของอีสานใต้อีกด้วย
ผู้ใหญ่ปัญญา สิทธานนท์ ให้การต้อนรับและเล่าให้ฟังว่าชาวบ้านที่นี่มีอาชีพปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อก่อนจะต่างคนต่างปลูก ทำให้ได้คุณภาพและราคาไม่ดีนัก จึงรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านหัวสะพานขึ้นเมื่อปี 2553 ผลิตเส้นไหมที่คุณภาพจนสามารถส่งเข้าไปขายที่ศูนย์ศิลปาชีพภูพาน มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ยามว่างจากการปลูกหม่อมเลี้ยงไหมชาวบ้านจะทอผ้าเป็นอาชีพเสริม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการสั่งสมมารุ่นต่อรุ่น จึงสามารถทอผ้าได้ทุกแบบทุกลาย เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าซิ่นตีนแดง ลวดลายต่างๆ ผ้าไหมพื้นเรียบ และเมื่อความต้องการผ้าไหมทอมือเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าชุมชนหัวสะพาน นอกจากจะทอผ้าที่บ้านแล้วก็มารวมตัวกันทอผ้าที่โรงทอผ้าของชุมชน ซึ่งทาง อบต. จัดไว้ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพทอผ้า รวมถึงส่งเสริมการตลาดให้ชาวบ้านได้มีช่องทางในการจำหน่ายเพิ่มขึ้น
ผ้าไหมมัดหมี่และผ้าซิ่นตีนแดงบ้านหัวสะพานมีชื่อเสียงไม่แพ้บ้านใด เพราะที่นี่เป็นแหล่งปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและมีการพัฒนาเส้นใยไหมที่ได้มาตรฐาน เมื่อนำมาถักทอจึงได้ผ้าไหมผืนงามที่มีคุณภาพ บวกกับภูมิปัญญาในการทอผ้ามัดหมี่ที่สั่งสมกันมานาน ทำให้กลุ่มทอผ้าไหมชุมชนหัวสะพาน ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลภูมิปัญญาท้องถิ่นดีเด่น ระดับจังหวัด ‘ภูมิปัญญาผลิตผ้าซิ่นตีนแดง’ ปี 2558 ส่งให้ผ้าซิ่นตีนแดงบ้านหัวสะพานเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
ผู้ใหญ่ปัญญาบอกว่าที่นี่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ได้ประมาณ 2 ปี มีนักท่องเที่ยวและนักศึกษาที่สนใจเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทอผ้า เพื่อสืบสานศิลปะการทอผ้าซิ่นตีนแดงเอกลักษณะของบ้านหัวสะพานสืบไป ใครอยากไปสัมผัสวิถีชุมชนอย่างใกล้ชิดแบบนี้ ติดต่อได้ที่ผู้ใหญ่ปัญญา สิทธานนท์ โทร 09 5464 3867