โหล่งฮิมคาว สันกำแพง ชุมชนแห่งศิลปะวัฒนธรรม

โหล่งฮิมคาว ตั้งอยู่ที่บ้านมอญ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โหล่งฮิมคาวเป็นภาษาพื้นเมือง คำว่าโหล่ง แปลว่า ย่าน ส่วนฮิมคาว คือ ริมแม่น้ำคาว ความหมายคือชุมชนย่านริมแม่น้ำคาวนั่นเอง ชุมชนแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนให้มีกาดต่อนยอน กาดที่รณรงค์ให้ใช้ชีวิตแบบไม่เร่งรีบ พูดจากันม่วนๆ เป็นการเปิดชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสศิลปะวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ของชาวโหล่งฮิมคาว

    


ชุมชนโหล่งฮิมคาวมีความโดดเด่นเรื่องการผลิตผ้าฝ้าย ได้มาตรฐานรางวัลชนะเลิศ GI การผลิตจะเป็นแบบพื้นบ้านดั้งเดิมนำมาประยุกต์ผสมผสานเข้ากับแฟชั่นดีไซน์ของคนรุ่นใหม่ ลักษณะของบ้านเรือนส่วนใหญ่เน้นให้มีการออกแบบเป็นแบบล้านนา เพื่อเป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชน ชาวบ้านอยู่อาศัยร่วมกันแบบพี่น้อง ภายในชุมชนมีการทำสลุงเงิน มีศูนย์ฟื้นฟูผู้พิการ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เสื้อผ้าพื้นเมือง โดยแต่ละบ้านจะเปิดบ้านเพื่อจำหน่ายสินค้าของตน มีการทำเวิร์คชอป เปิดต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมทุกวัน ยกเว้นวันพุธ

    


ทุกวันเสาร์จะมีตลาดเล็กๆ อยู่ใต้ต้นฉำฉาเรียกกันว่า กาดฉำฉา ริเริ่มโดยคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าหลากหลาย เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่ สินค้าแฮนเมด สินค้าพื้นเมือง ฯลฯ เปิดขายตั้งแต่เวลา 09.00-14.00 น.

    


ในช่วงเทศกาลยี่เป็ง (ประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี) ชุมชนโหล่งฮิมคาวจะมีการจัดงานพิเศษประจำปีขึ้น เรียกว่า กาดต่อนยอน (แปลว่าเนิบช้าหรือสโลว์ไลฟ์) เป็นการรวมตัวกันปีละหนึ่งครั้ง โดยแต่ละบ้านจะเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวที่สนใจจะมาเยี่ยมชม เรียนรู้ และสัมผัสกับศิลปะวัฒนธรรมของชุมชน นอกจากนี้ยังได้นำเครือข่ายชุมชนมาร่วมออกร้าน เช่น ชนเผ่าลัวะ ปกากะญอ ทำให้มีความหลากหลายของสินค้ามากยิ่งขึ้น ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ ซุ้มประตูป่าที่ชาวล้านนาจะสร้างขึ้นในช่วงเทศกาลยี่เป็ง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาล เปรียบประดุจประตูที่พระเวสสันดรกำลังจะเสด็จเข้าป่าหิมพานต์ ก่อนที่จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า จำลองมามีต้นกล้วย มีต้นอ้อย ต้นไม้ต่าง ๆ มีตุงตะขาบที่ชาวเชียงใหม่จะทำในงานบุญ ทำด้วยไม้ไผ่แบบพื้นบ้านประดับด้วยดอกฝ้าย ใช้ในงานบุญกฐิน เปรียบตะขาบกับจระเข้มาร่วมทำบุญกับพระพุทธเจ้า เป็นสัญลักษณ์การระลึกถึงพระพุทธเจ้า พญากาเผือก และจะมีการจุดโคม ห้อยโคมและจุดผางประทีปนับพันดวง เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในช่วงประเพณียี่เป็ง

ภายในงานกาดต่อนยอนยังมีการเดินแฟชั่นโชว์ชุดแบบต่างๆ ที่ดีไซน์จากผ้าพื้นเมือง และในอนาคตชุมชนโหล่งฮิมคาวได้วางแผนรณรงค์ให้เป็นพื้นที่การแต่งกายเสื้อผ้าแบบพื้นเมือง ให้ได้ชื่อว่าเป็นย่านแห่งแฟชั่นเมืองล้านนา