ททท. ชูแผนส่งเสริมสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว “เปิดกว้าง ต่อยอด ยั่งยืน”

 

 

หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของการบริหารการท่องเที่ยว จนทำให้ ททท. เดินมาจนถึงจุดเปลี่ยนนี้ คือ “คุณวิไลวรรณ ทวิชศรี” รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ที่ทีม a world connect เข้ามาพูดคุยเพื่ออัพเดทความคิด ลูกหม้อคนสำคัญของ ททท.

ที่ห้องทำงานภายในอาคารสำนักงานย่านเพชรบุรีตัดใหม่ “คุณวิไลวรรณ” หรือ “รองต๋อย” ที่ผู้สื่อข่าวและผู้คนที่คุ้นชินเรียกขานยุ่งเหยิงอยู่กับการประชุมสักพักก็เข้ามาทายทักด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

เราถามถึงหน้าที่หลักที่รับผิดชอบในฐานะรองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว รองวิไลวรรณ เล่าให้ฟังว่า “ด้านสินค้าฯ ก็มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสินค้าการท่องเที่ยวเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งการลงทุนธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตและนำรายได้เข้าสู่ประเทศ และการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับแผนการตลาด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ

ซึ่งด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว มี 3 ฝ่าย ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว เป็นการบริหารจัดการสินค้าการท่องเที่ยวที่มีความพร้อม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินงานด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เหมาะสม

ฝ่ายกิจกรรม เป็นการบริหารด้านการส่งเสริมและสร้างสรรค์กิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี เทศกาลและนันทนาการ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

ฝ่ายลงทุนธุรกิจท่องเที่ยว เป็นการประสานการลงทุนธุรกิจท่องเที่ยวขององค์กรและภาคเอกชนในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวของภาคเอกชนภายในประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพย์สินขององค์กรในด้านต่างๆ”

...ส่วนแนวนโยบายส่งเสริมสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว เรากำหนดการนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “Thainess & Happiness, You can share” เพื่อเสนอขายให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งมีกิจกรรมทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่ปี 2556
แนวนโยบายในปัจจุบันจะเปิดกว้าง ให้พันธมิตรเข้ามาร่วมกิจกรรมกับ ททท. โดยใช้ศักยภาพของเราที่อยู่มานานห้าสิบกว่าปีและการเดินไปข้างหน้าต้องมีความต่อเนื่อง เพราะจากการทำตลาดที่ผ่านมา ความเป็นไทยที่ ททท. นำเสนอขายผ่านทุกกิจกรรม/โครงการ เป็นจุดแข็งที่ไม่มีใครสามารถเอาไปลอกเลียนแบบได้ทุกกิจกรรมต้องใช้ Thainess เป็นตัวนำ

การสร้างสินค้าทางการท่องเที่ยวหลักๆ มี 4 กลุ่ม กลุ่มแรก คือกลุ่มเอกลักษณ์ไทย (Thainess) เน้นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบ กำหนดให้ “มวยไทย” และ “อาหารไทย” เป็นสินค้าหลักที่จะชูภาพลักษณ์เอกลักษณ์ไทยแก่นักท่องเที่ยว

“มวยไทย” ชูได้เพราะไม่มีคู่แข่ง เราเป็นเจ้าเดียวในโลกจริงๆ มีธรรมเนียมการไหว้ครู ถือเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งททท.กำลังสร้างแบรนด์ว่า ไม่ว่าผู้ที่สนใจเรียนมวยไทยที่ไหนในโลกทุกปี คือวันที่ 17 มีนาคม ซึ่งเป็นวันนายขนมต้ม ผู้เรียนจะต้องกลับมาไหว้ครูที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

ที่ผ่านมามีผู้่เรียนมวยไทยจาก 30-40 ประเทศให้ความสนใจเดินทางเข้ามาเพื่อทำพิธีไหว้ครูมากขึ้นทุกปี ตอนนี้ทำมา 13 ปีติดต่อกันแล้ว เป็นนโยบาย ปี 2556-2558 จึงยังคงเป็นมวยไทย

ถัดมาเป็น “อาหารไทย” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ และเน้นเรื่องข้อมูลข่าวสารด้านสถานที่เรียนการทำอาหาร เครื่องปรุงอาหารไทย โดยทางททท.มีเวปไซต์เกี่ยวกับ Amazing Thai Food เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาดู รวมถึงการจัดกิจกรรม Amazing Thai Food ประจำทุกปี โดยปีนี้เลือกจัดที่พัทยา

กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการฟื้นฟู บำบัด รักษาสุขภาพของนักท่องเที่ยว รวมทั้ง Spa Health & Wellness สุขภาพความงาม โรคเฉพาะทาง, เวชศาสตร์ชลอวัยเป็นต้น โดยไม่ได้เกี่ยวกับสาธารณสุขพื้นฐาน

ซึ่งจริงๆ แล้วภาคเอกชนโรงพยาบาลใหญ่ที่แข็งแรงเขาทำหมดแล้ว แต่ของททท.จะเข้าไปช่วยในระดับกลางที่เป็น SMEs ที่ไม่มีกำลังจะไปทำตลาดต่างประเทศ เราก็จะพาไปออกงาน เช่นที่มอสโคว์ ดูไบ งานท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ททท.จะพาไปเปิดบูธในนามประเทศไทย แต่ผู้ประกอบการต้องมีเว็ปไซต์เป็นภาษาอังกฤษและพูดภาษาอังกฤษได้

อีกมุมหนึ่งคือ มีการนำผู้ซื้อพบปะเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย โดยทางททท.จัดอบรมให้หนึ่งวันและให้ทำแพคเกจเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปิดการขายให้ได้ภายในวันเดียว

ถัดมาเป็นกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) เป็นการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวอาสาสมัคร เพราะแนวโน้มของพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ สนใจและตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในทุกๆ ครั้งที่ออกเดินทางท่องเที่ยว เช่นปั่นจักรยาน อาสาช่วยปลูกป่า

กลุ่มกระตุ้นรายได้จากนักท่องเที่ยว Highend นักท่องเที่ยวที่เลือกไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว 80 % เป็นกลุ่มที่เดินทางซ้ำ (Repeater) ซึ่งจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป (Leisure) ด้านสินค้านำเสนอสินค้าคุณภาพสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Highend

ในส่วนของการเปิดเขตเศรษฐกิจการค้าเสรีอาเซียน ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ องค์การการท่องเที่ยวโลกพบว่า การท่องเที่ยวในแถบอาเซียนมีการขยายตัวสูงมาก นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนกว่า 80 ล้านคน / ครั้ง ต่อปี

ไทยมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะมั่นใจในบริการและความคุ้มค่า รวมถึงมีความหลากหลายของการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ให้ได้เลือกพักฟื้นหลังการรักษาพยาบาล การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะเดินทางมากันเป็นครอบครัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน เช่น พม่าและกัมพูชา ที่นิยมเดินทางเข้ามาทำการแก้ไขปัญหาการมีบุตรยากเป็นต้น

โอกาสของไทยด้านการแสวงหาพันธมิตร ถ้าดูตามลักษณะที่ตั้งของไทยแล้วจะเป็นยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน จึงยกประเด็น การท่องเที่ยวเชื่อมโยง โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทนำเที่ยวและสายการบินที่จะรองรับกระแส Look East ของกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะไกล จากทั้งยุโรปและอเมริกาที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยก่อนจะเดินทางท่องเที่ยวเที่ยวต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

เช่น พม่า ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย ทั้งทางบกและทางอากาศ ดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจในลักษณะ คู่ค้า และการดำเนินกลยุทธ์ในลักษณะ คู่แข่ง โดยการสร้างเครือข่ายในการทำธุรกิจในอาเซียนร่วมกัน

ส่วนด้านลบของการเปิดการค้าเสรี น่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการคน ซึ่งจะมีการย้ายงานออกไปทำงานที่ต่างประเทศ เนื่องจากมีรายได้ที่สูงกว่าการทำงานในประเทศ รวมถึงแรงงานต่างชาติก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่เป็นห่วงและอยากให้ทุกคนตระหนักคือ นอกเหนือจากรายได้ ที่สูงกว่า มีปัจจัยอีกหรือไม่ที่ภาคแรงงานจะต้องเสียไป เช่นการเสียโอกาสที่จะได้อยู่กับครอบครัว การอยู่ในสังคมที่ไม่คุ้นชิน และปัญหาสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตที่อาจจะประสบระหว่างที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศก็เป็นได้ “เชื่อว่า อยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเท่าอยู่บ้านเรา”