การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชวนสัมผัสความสวยงามอลังการ ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ ในวันสงกรานต์ ณ วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย

 

 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชวนสัมผัสความสวยงามอลังการ ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ ในวันสงกรานต์ ณ วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา อำเภอนาแห้ว  จังหวัดเลย

 การแห่ต้นดอกไม้มีความเป็นมายาวนานกว่า ๔๐๐  ปี  โดยมีความเชื่อว่าการทำต้นดอกไม้มาเป็นพุทธบูชาในวันสงกรานต์ ที่ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น จะถือว่าเป็นมงคลกับชีวิตอย่างยิ่ง ต้นดอกไม้ของตำบลแสงภา จะมีลักษณะเด่นกว่าทุกวัดคือมีขนาดใหญ่และสูง มีความกว้าง ๓ เมตร สูง ๑๕ เมตร" และต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว”

การแห่ต้นดอกไม้มีการแห่ตั้งแต่ก่อสร้างวัดแล้วเสร็จเป็นต้นมา ถึงปัจจุบันราว  ๔๐๐  ปีเริ่มแรกเกิดจากความเชื่อว่าการนำดอกไม้มาบูชาพระที่ชาวไทยถือว่าวันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ การบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ถือว่าเป็นสิ่งอันเป็นมงคล  เริ่มด้วยการเก็บดอกไม้ดอกที่สด ดอกที่สวยงามที่สุด  เป็นดอกเป็นช่อ    และพัฒนามาเป็นพานพุ่ม พานบายศรี ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่จนพัฒนาไปถึงการทำโครงสร้างด้วยไม้เรียกว่าต้นดอกไม้ ขนาดเล็กถือคนเดียว ขนาดกลางใช้คนหาม  ๔  คน และขนาดใหญ่ใช้คนหาม ๖ คน     ๘  คน  และ ๑๐ คน  ตามลำดับ

โดยผู้ชายจะตัดไม้ไผ่มาผูกเป็นโครง อุปกรณ์ที่ใช้ยึดจะมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่มีการใช้ลวด หรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ส่วนผู้หญิงจะทำหน้าที่จัดหาดอกไม้จากต้นไม้ในหมู่บ้านมามัดรวมเป็นช่อๆ เพื่อการตกแต่ง ถือเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความศรัทธา และความสามัคคีของชาวชุมชน

ช่วงบ่าย ชาวบ้านส่วนที่เหลือก็จะออกมาช่วยกันประกอบต้นดอกไม้ส่วนที่เหลือและประดับดอกไม้ลงบนต้น ในระหว่างนี้ชาวบ้านจะมีการสาดน้ำเล่นสงกรานต์กันไปด้วยเป็นที่สนุกสนาน ของทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กๆ คนหนุ่มสาว ผู้หลักผู้ใหญ่หรือแม้แต่ผู้อาวุโสของหมูบ้านก็ออกมาให้กำลังใจกันมันเป็นภาพที่งดงามที่เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจกันเพื่องานประเพณีประเพณีอันดีงาม

เมื่อถึงตอนเย็นชาวบ้านหมู่ไหนทำต้นดอกไม้เสร็จแล้วก็จะนำต้นดอกไม้มาตั้งไว้ข้างๆโบสถ์ที่วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภาให้ชาวบ้านและผู้ศรัทธาจุดเทียนประดับบริเวณคานพระหลวงพี่ในวัดเล่าให้ฟังว่า การจุดเทียน ที่คานต้นดอกไม้มีความเชื่อว่าจะช่วยให้ประสบความสำเร็จสมปรารถนาในสิ่งที่ทำเมื่อใกล้ถึงเวลาแห่ชาวบ้านจะปีนขึ้นไปในต้นดอกไม้เพื่อจุดเทียนที่อยู่ด้านในเพื่อจุดเทียนภายในต้นดอกไม้

เมื่อได้เวลาชายหนุ่มของแต่ละหมู่บ้านก็จะช่วยกันยกต้นดอกไม้ขึ้นแห่วนรอบพระอุโบสถให้ครบ 3 รอบ จากเดิมเสียงกลองและฉิ่งฉาบก็ประยุกต์นำเอาเครื่องเสียงสมัยใหม่มาใช้ร่วมด้วย เพื่อสร้างความสนุกสนานในการแห่โดยหนึ่งต้นดอกไม้จะต้องใช้ผู้แห่ประมาณ 4 คนเป็นอย่างน้อยซึ่งถ้าบ้านไหนทำต้นดอกไม้ใหญ่มาก ก็ต้องใช้คนแห่มากตามไปด้วยในแต่ละก้าวเดินของผู้แห่จะทำให้ต้นดอกไม้แกว่งหมุนไปมาพลิ้วไหวดั่งต้นไม้ที่ถูกลมพัด สร้างความตื่นตาให้กับขบวนแห่ได้ไม่น้อย

 

ต้นดอกไม้ทุกต้น  ประกอบโครงสร้างด้วยไม้ไผ่ทั้งมด  ไม่มีลวด  ตะปู  ผูกหรือตอก  การทำต้องทำให้แล้วเสร็จในวันเดียว  เริ่มจากเช้ารวมกันตัดไม้ไผ่ที่มีตามหัวไร่   ปลายนา  นำเข้ามาในหมูบ้านร่วมกันประกอบโครงต้นเรียกว่าฝ่ายทำต้น อีกฝ่ายก็จะหาเก็บดอกไม้ที่มีตามฤดูกาล    ต้องเป็นดอกไม้สดเท่านั้นเสร็จแล้ว  นำต้นดอกไม้ไปรวมกันที่วัดเพื่อรอเวลาแห่ในตอนค่ำ  ก่อนจะถึงเวลาแห่ ทางวัดจะตีกลองหลวง (กลองเพล)  เพื่อเป็นสัญญาณให้ชุมชนรู้ว่าใกล้เวลาจะถึงกำหนดแห่แล้วทุกคน จะไปรวมกันที่วัดโดยแบ่งหน้าที่ออกเป็น  ๓  ฝ่าย  ๑  ฝ่ายหามต้นดอกไม้  ๒  ฝ่ายตีกลอง  ฆ้อง  ฉิ่ง ฉาบ แคน พิณ   ๓  ฝ่ายแห่ต้นดอกไม้นำหน้า  ตามด้วยขบวนกลองให้จังหวะ และตามด้วยผู้แห่

โดยมีความเชื่อและถือว่าเป็นศิริมงคล ที่ได้นำดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัย ขอให้อยู่ดีมีสุขให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้ข้าวกล้าในภูมินาอุดมสมบูรณ์  บ้านเมืองร่มเย็น  ปราศจากโรค ภัย ไข้ เจ็บ  วัว ควาย สัตว์เลี้ยงขยายคอกออกผลสมบูรณ์

การแห่ต้นดอกไม้มีการแห่ทุกปี เริ่มจากวันสรงน้ำพระพุทธรูป (ช่วงวันสงกรานต์) เริ่มจากวันที่ ๑๓เมษายน โดยหลักปฏิบัติแต่ปัจจุบันนี้จะเริ่มแห่ตั้งแต่วันที่ ๑๔-๑๕-๑๖เมษายน ติดต่อกัน และจะมีการแห่ต้นดอกไม้ทุกคืนวันพระ ตลอดเดือนเมษายน ของทุกปี การแห่ต้นดอกไม้ของชาวตำบลแสงภา ต้องแห่ตอนกลางคืน ราว ๑ทุ่ม –๓ทุ่ม และต้องมาแห่ที่วัดรอบพระอุโบสถเท่านั้น โดยต้องแห่ให้ครบสามรอบ โดยรอบที่ ๑แห่เพื่อบูชาพระพุทธ รอบที่ ๒เพื่อบูชาพระธรรม และรอบที่ ๓เพื่อบูชาพระสงฆ์ เมื่อทำการแห่จนครบสามรอบแล้ว ต้องวางต้นดอกไม้ทุกต้นไว้รอบพระอุโบสถ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าชาวบ้านจะช่วยกันนำต้นดอกไม้ออกจากวัด ถ้าต้นไหนยังแข็งแรง ไม่เสียรูปทรง สามารถที่จะนำมาเปลี่ยนดอกไม้ใหม่ แล้วนำไปแห่ในคืนต่อไปได้อีก การแห่ต้นดอกไม้นั้น ผู้หามต้องโยกประกอบจังหวะให้ต้นดอกไม้หมุนซ้าย ขวา ตามจังหวะเสียงกลอง ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ ที่บรรเลงประกอบจนกว่าจะครบ ๓รอบ และภายในต้นดอกไม้นั้นจะต้องติดเทียนไข และจุดไฟเพื่อให้เกิดแสงสว่างด้วยทุกต้น

โดยหลักจะมีการแห่ต้นดอกไม้ในเทศกาลสงกรานต์เกือบทุกวัดในจังหวัดเลย และมีความเชื่อคล้ายกัน  แต่ต้นดอกไม้ของตำบลแสงภา  อำเภอนาแห้ว  จังหวัดเลย  จะมีลักษณะเด่นกว่าทุกวัด คือมีขนาดต้นใหญ่และสูงกว่าทุกวัด  การแห่ต้องโยกให้ต้นหมุนตามจังหวะกลองสวยงาม  ต้นใหญ่ที่สุด มีความกว้าง ๓  เมตร สูง ๑๕  เมตร  ใช้ไม้ไผ่ประกอบโครงสร้างตั้งแต่  ๑๐-๔๐ ลำ  แล้วแต่ขนาด   ซึ่งที่วัดอื่นมีขนาดเล็กกว้างไม่เกิน  ๑  เมตร  สูงไม่เกิน  ๓  เมตร  

 

 

 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

1600 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพ ฯ 10400

โทร 0 2250 5500 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย

โทร 0 4281 2812

www.เที่ยวอีสาน.com